ตัวเลขหลักที่ 1 ของ เลขประจำตัวประชาชนไทย

1 2345 67890 12 3

แสดงตัวเลขหลักที่ 1

หมายถึงประเภทบุคคล ซึ่งมีอยู่ 9 ประเภท ได้แก่

ประเภทที่ 1

คือคนที่เกิดและมีสัญชาติไทยและได้แจ้งเกิดภายในกำหนดเวลา หมายความว่า เด็กคนใดก็ตามที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2527 เป็นต้นไป อันเป็นวันเริ่มแรกที่กรมการปกครอง ประกาศให้ประชาชนทุกคนต้องมีเลขประจำตัว 13 หลัก เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองไปแจ้งเกิดที่อำเภอหรือสำนักทะเบียนในเขตที่อยู่ภายใน 15 วัน นับแต่เกิดมาตามที่กฎหมายกำหนด เด็กคนนั้นก็ถือเป็นบุคคลประเภท 1 และจะมีเลขประจำตัวขึ้นด้วยเลข 1เช่น เด็กหญิงส้มจี๊ด เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2527 และพ่อไปแจ้งเกิดที่เขตดุสิตภายในวันที่ 17 มกราคม 2527 เด็กหญิงส้มจี๊ด ก็จะมีหมายเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 1 และก็ต่อด้วยเลขหลักอื่นๆ อีก 12 ตัว เป็น 1 1001 01245 29 9 เป็นต้น ซึ่งเลขนี้จะเป็นเลขประจำตัว ปรากฏในทะเบียนบ้าน และจะปรากฏบนบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อส้มจี๊ดไปทำบัตรประชาชนตอนอายุ 15 ปี

ปัจจุบัน พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2554 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 10 พฤษภาคม 2554 กำหนดให้เด็กอายุครบ 7 ปี ต้องยื่นคำขอมีบัตรประชาชนครั้งแรก ภายใน 60 วัน[3] จากเดิมคือต้องเป็นผู้มีอายุครบ 15 ปี ทั้งนี้ คำนำหน้าชื่อบนบัตรของเด็กอายุ 7-14 ปี ยังคงเป็น ด.ช. หรือ ด.ญ. ตามเดิม

ประเภทที่ 2

คือคนที่เกิดและมีสัญชาติไทยได้แจ้งเกิดเกินกำหนดเวลา หมายความว่า เด็กคนใดก็ตามที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2527 เป็นต้นไป แล้วผู้ปกครองลืมหรือติดธุระไม่สามารถไปแจ้งเกิดที่อำเภอหรือเขตภายใน 15 วันตามกำหนด เมื่อไปแจ้งภายหลังเด็กคนนั้นก็จะกลายเป็นบุคคลประเภท 2 มีตัวเลขตัวแรกในทะเบียนบ้านขึ้นด้วยเลข 2 เช่น ในกรณีส้มจี๊ด หากพ่อไปแจ้งเกิดให้ ในวันที่ 18 มกราคม 2527 หรือเกินกว่านั้น ส้มจี๊ดก็จะมีเลขประจำตัวเป็น 2 1001 01245 29 9 ในทะเบียนบ้าน และเมื่อไปทำบัตรประชาชนในภายหน้า

ประเภทที่ 3

คือคนไทยและคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในสมัยเริ่มแรก (คือตั้งแต่ก่อนวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2527) หมายความว่า บุคคลใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ณ ที่ใดที่หนึ่งในประเทศไทยมาตั้งแต่ก่อนวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 คนนั้นถือว่าเป็นบุคคลประเภท 3 และก็จะมีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 3เช่น ส้มจี๊ด เกิดเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2501 และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านแล้ว ส้มจี๊ดก็จะมีเลขประจำตัวในทะเบียนบ้าน และบัตรประชาชนเป็น 3 1001 01245 29 9

ประเภทที่ 4

คือคนไทยและคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญคนต่างด้าว แต่แจ้งย้ายเข้าโดยยังไม่มีเลขประจำตัวประชาชนในสมัยเริ่มแรก หมายความว่า คนไทยหรือคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญคนต่างด้าว ที่อาจจะเป็นบุคคลประเภท 3 คือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดิมอยู่แล้ว แต่ยังไม่ทันได้เลขประจำตัวก็ขอย้ายบ้านไปเขตหรืออำเภออื่นก่อนช่วง 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 ก็จะเป็นบุคคลประเภท 4 ทันที

ประเภทที่ 5

คือคนไทยที่ได้รับอนุมัติให้เพิ่มชื่อเข้าไปในทะเบียนบ้านในกรณีตกสำรวจหรือกรณีอื่น ๆ เช่น คนที่ถือ 2 สัญชาติ

ประเภทที่ 6

คือผู้ที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้ที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ในลักษณะชั่วคราว กล่าวคือ คนที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยแต่ยังไม่ได้สัญชาติไทยเพราะทางการยังไม่รับรองทางกฎหมาย เช่น ชนกลุ่มน้อยตามชายแดนหรือชาวเขา กลุ่มนี้ถือว่าเป็นผู้เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนบุคคลที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ชั่วคราว เช่น นักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย แม้บางคนจะถือพาสปอร์ตประเทศของตน แต่อาจจะมีสามีหรือภรรยาคนไทยจึงไปขอทำทะเบียนประวัติเพื่อให้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านสามีหรือภรรยา คนทั้งสองแบบที่ว่านี้ถือว่าเป็นบุคคลประเภท 6

ประเภทที่ 7

คือบุตรของบุคคลประเภทที่ 6 ซึ่งเกิดในประเทศไทย คนกลุ่มนี้ในทะเบียนประวัติจะมีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 7

ประเภทที่ 8

คือคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย คือผู้ที่ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวหรือคนที่ได้รับการแปลงสัญชาติเป็นสัญชาติไทย และคนที่ได้รับการให้สัญชาติไทยตั้งแต่หลังวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 เป็นต้นไปจนปัจจุบัน

คนทั้งแปดประเภทนี้จะมีเพียงประเภทที่ 3, 4 และ 5 เท่านั้นที่จะมีบัตรประจำตัวประชาชนได้เลย ส่วนประเภทที่ 1 และ 2 จะมีบัตรประจำตัวประชาชนได้ก็ต่อเมื่อมีอายุถึงเกณฑ์ทำบัตรประจำตัวประชาชน คืออายุ 7 ปี แต่สำหรับบุคคลประเภทที่ 6, 7 และ 8 ที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย จะมีเพียงทะเบียนประวัติเล่มสีเหลืองเท่านั้น จะไม่มีการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้ บุคคลประเภทที่ 8 ที่ได้รับสัญชาติไทยจะมีบัตรประจำตัวประชาชนได้

ประเภทที่ 9

หมายถึงบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร ไม่มีสัญชาติและยังไม่ได้รับการให้สัญชาติไทย[4][5][โปรดขยายความ] ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราว[6]